มีคำกล่าวว่า “มิตรภาพเกิดขึ้นเมื่อใด เมื่อนั้นย่อมงดงามเสมอ” เพราะมิตรภาพเป็นสิ่งที่ช่วยให้ชีวิตคนเรามีความสุข มิตรภาพที่แท้จริงนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นแค่การเป็นเพื่อน ความรู้สึกชอบพอ ถูกอกถูกใจ แต่เกิดจากการยอมรับและให้เกียรติกัน การให้ความรู้สึกดี ๆ ต่อกัน การให้อภัยกัน โดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน ฯลฯ ธรรมชาติของคนเราไม่อาจอยู่โดดเดี่ยวได้โดยปราศจากเพื่อน ที่จะช่วยปลอบโยนในยามทุกข์ และร่วมชื่นชมยินดีในยามสุขสมหวัง ดังนั้น การมีเพื่อนดี ๆ จึงเปรียบเสมือนได้ของขวัญอันวิเศษ และเมื่อได้กัลยาณมิตรที่ดีมาแล้วก็ต้องรักษาไว้สุดชีวิต
และ 8 วิธีถนอมรักษาความสัมพันธ์ดังต่อไปนี้ จะช่วยให้มิตรภาพยืนนานต่อไปไม่รู้จบ
1. ส่งผ่านความรู้สึกดีๆ
ปัจจัยแรกของการมีสัมพันธภาพที่ดี คือ ตัวเราต้องมีความสุขเสียก่อน จึงจะสามารถเผื่อแผ่ความสุขออกไปได้ เช่น เมื่อมีความสุข เราจะยิ้มให้กับตัวเอง และก็จะยิ้มให้กับคนรอบข้างด้วย ดังนั้น ถ้าอยากให้ความสัมพันธ์กับผู้อื่นเป็นไปอย่างราบรื่นและเป็นสุข ต้องเริ่มจากตัวเอง แล้วส่งผ่านความรู้สึกดีๆออกไปยังคนอื่นๆ และในขณะเดียวกัน หากมีปัญหากับผู้อื่น ก็ควรหันกลับมาพิจารณาทบทวนตัวเอง เพื่อหาข้อบกพร่องและแก้ไขให้ดีขึ้น เพราะในความเป็นจริงพลังยิ่งใหญ่ที่สุดที่แต่ละคนมี คือ พลังที่สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้
2. ให้อภัยด้วยใจจริง
บางครั้งความสัมพันธ์ที่ดีงาม อาจถูกตัดขาดลงด้วยความรู้สึกโกรธ โมโห ขุ่นเคือง ในเรื่องราวใด ๆ ก็ตาม และอาจกลายเป็นการอาฆาต พยาบาท จองเวรกันไม่มีที่สิ้นสุด แต่การรู้จักให้อภัย คือ การไม่ถือโทษ ไม่ถือโกรธกับเรื่องราวที่ผ่านมา เป็นคุณธรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งของมนุษย์ ที่ต้องอาศัย "เมตตา กรุณา" ที่มีอยู่ในจิตใจ ให้อภัยด้วยใจจริง และถือเป็นการบำเพ็ญบารมีในพุทธศาสนา คือ "อภัยทาน" อันเป็นทานบารมีที่สูงส่ง อภัยทานนี้เป็นสิ่งที่ให้กันได้ทั้งทางกาย วาจา และใจ การให้อภัยอย่างแท้จริงนั้น จะนำความรักและความสัมพันธ์ที่ดีงามกลับมาได้ดังเดิม
3. ยอมรับผิดและพร้อมแก้ไข
หัวใจที่ซื่อสัตย์ คือ การเริ่มต้นสิ่งถูกต้องทุกอย่างบนโลกใบนี้ คนที่ได้รับการยกย่องนับถือสูงสุด มิใช่คนที่ไม่เคยทำผิดเลย แต่เป็นคนที่กล้ายอมรับเมื่อทำผิด และพยายามแก้ไขให้ดีขึ้นต่างหาก เพราะในที่สุด การเป็นคนซื่อสัตย์ไม่เพียงทำให้เอาชนะใจคนอื่น และรักษามิตรภาพที่ดีงามไว้ได้แล้ว แต่ยังนำพาคนดี ๆ เข้ามาในชีวิตอยู่เสมอ
4. หยุดนินทา
การจะรักษาความสัมพันธ์ให้ยืนนานนั้น มีกฎข้อหนึ่งที่ควรปฏิบัติ คือ หากมีบางเรื่องที่ไม่สามารถพูดต่อหน้าเพื่อนหรือคนที่คุณรัก ก็ไม่ควรพูดลับหลังเขา เคยมีคนกล่าวไว้ว่า “คนที่มีจิตใจดีชอบคุยเรื่องแนวคิด คนที่มีจิตใจกลางๆ ชอบคุยเรื่องเหตุการณ์ต่าง ๆ ส่วนคนที่ใจคับแคบชอบคุยเรื่องคนอื่น”
ชีวิตคนเราช่างสั้นนัก อย่ามัวเสียเวลาพูดเรื่องคนอื่น หรือนินทาว่าร้ายในเรื่องไร้แก่นสาร จำไว้ว่า ในบางเรื่องนั้น หากไม่รู้ จงถาม หากไม่เห็นด้วย จงพูดออกมา และหากไม่ชอบสิ่งใด จงบอกไปตรง ๆ ที่สำคัญ..อย่าตัดสินคนหลับหลังเป็นอันขาด เพราะมันอาจไม่ได้เป็นอย่างที่คุณคิด และจะทำให้ความสัมพันธ์ขาดสะบั้นลง
5. การยอมรับและให้เกียรติกัน
การยอมรับและให้เกียรติในคุณค่าของความเป็นมนุษย์ เป็นสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่จะช่วยดำรงความสัมพันธ์ให้ยั่งยืน จริงๆแล้ว การยอมรับโดยปราศจากเงื่อนไข คือสิ่งที่คนเรามักต้องการจากผู้อื่น แต่กลับยากที่จะหยิบยื่นให้ผู้อื่นได้ ดังนั้น การยอมรับทุกคนโดยปราศจากเงื่อนไขและให้เกียรติกัน ไม่ว่าจะเขาจะมาจากชาติตระกูลใด ยากดีมีจนอย่างไร มีการศึกษาสูงต่ำแค่ไหน ย่อมทำให้ผูกไมตรีไว้ได้
6. มีพรหมวิหาร 4
พรหมวิหาร 4 คือหลักธรรมทางพุทธศาสนา ที่ช่วยให้บุคคลดำรงชีวิตได้อย่างประเสริฐและบริสุทธิ์ อันได้แก่ เมตตา ความปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุข กรุณา ความปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ มุทิตา ความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี และอุเบกขา การรู้จักวางเฉย เมื่อยึดพรหมวิหาร 4 เป็นหลักธรรมประจำใจในการดำเนินชีวิต จะก่อให้เกิดความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ซึ่งจะช่วยคลี่คลายสถานการณ์ต่างๆได้ รวมทั้งความสัมพันธ์ก็จะดีขึ้นด้วย
7. ฟังให้มาก พูดให้น้อย
โดยธรรมชาติของมนุษย์นั้น เมื่อเป็นทุกข์ ย่อมต้องการคนที่คอยรับฟัง มากกว่าที่จะมาพูดจาสั่งสอน มีคำกล่าวว่า “การลุกขึ้นยืนและพูดแสดงความคิดเห็นนั้น ต้องอาศัยความกล้าหาญมาก แต่ทว่าการเปิดใจที่จะรับฟังผู้อื่น กลับต้องอาศัยความกล้าหาญมากยิ่งกว่า” เพราะฉะนั้น จึงควรฝึกฝนการเป็นนักฟังที่ดี ด้วยการอดทนในการฟัง มีมารยาทในการฟัง ไม่พูดขัดจังหวะ และฟังอย่างตั้งใจเอาใจใส่ ซึ่งจะเป็นการสร้างสัมพันธ์อันดีทั้งต่อผู้พูดและผู้ฟัง พึงระลึกว่า การรับฟังไม่เคยให้โทษใคร มีแต่จะนำมาซึ่งความสำเร็จในชีวิต เพราะการฟังเป็นพื้นฐานสำคัญในการเข้าสังคม ช่วยลดความเข้าใจผิด และความขัดแย้งในการปฏิสัมพันธ์กับคน
8. มีรับและมีให้
การอยู่ร่วมกันในสังคมใดๆก็ตาม ย่อมต้องมีทั้งการรับและการให้ ซึ่งเป็นวิธีการถนอมความสัมพันธ์ให้ยั่งยืนนาน เพราะการเป็นผู้รับแต่เพียงฝ่ายเดียวนั้น เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ ไม่มีใครอยากคบหาสมาคมด้วย ขณะที่การเป็นผู้ให้นั้น มีคำกล่าวว่า “มือของผู้ให้ย่อมอยู่สูงกว่ามือของผู้รับเสมอ” เพราะการให้เป็นความสุขทั้งก่อนให้ ขณะให้ และภายหลังจากที่ได้ให้ไปแล้ว การให้เป็นการเสียสละ แบ่งปัน อันจะนำมาซึ่งความสมานสามัคคีระหว่างผู้คนหรือหมู่คณะ เพราะฉะนั้น “มีรับและมีให้” โปรดจำไว้ ใช้ผูกสัมพันธ์
ขอขบคุณข้อมูลดี ๆ จาก : นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 158 กุมภาพันธ์ 2557 โดย ประกายรุ้ง
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ.2565 สำนักพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการสหกรณ์
Copyright All Reseve 2022 Cooperative Technology Transfer and Development Office
Picture Icons & Symbols จากเว็บไซต์ Pixabay.com, Freepik.com, Flation.com, Canva.com