ที่ใดที่มีความทะเยอทะยาน นิสัยชอบการแข่งขัน และสถานการณ์ที่ตึงเครียด ที่นั่นก็อาจเกิดอารมณ์ที่ยากจะควบคุมได้ แม้ว่าสิ่งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตการทำงานตามปกติ แต่วิธีที่องค์กรรับมือกับช่วงเวลาเหล่านี้ก็สามารถบ่งบอกถึงวัฒนธรรมของบริษัทนั้นได้เป็นอย่างดี และแม้ว่าความขัดแย้งบางอย่างจะเกิดขึ้นแค่ช่วงสั้นๆ แต่ความขัดแย้งอื่นๆ ก็อาจฝังรากลึกและจบลงด้วยการสร้างผลกระทบต่อผลิตภาพและขวัญกำลังใจของคนทั้งทีมได้ ไม่ว่าจะเป็นแบบใด เจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสก็มักจะต้องทุ่มเทเวลาส่วนใหญ่เพื่อจัดการความขัดแย้งในที่ทำงาน ซึ่งในความเป็นจริงนั้น ผู้จัดการใช้เวลากับเรื่องดังกล่าวสูงถึง 40% ของเวลาทั้งหมดเลยทีเดียว ทั้งที่เวลาดังกล่าวควรถูกใช้กับสิ่งอื่นที่สำคัญและมีประโยชน์มากกว่า ไม่เพียงแค่นั้น ความสับสนเกี่ยวกับบทบาทและความรับผิดชอบในตัวงานยังนำมาซึ่งความเครียด ความโดดเดี่ยวในที่ทำงาน และแม้แต่พฤติกรรมการแสดงอารมณ์ด้านลบโดยไม่พูดออกมาตรง ๆ อีกด้วย
ความไม่ลงรอยกันในที่ทำงานเกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ แต่สาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดมีด้วยกัน 4 ประการ ดังนี้
การสื่อสารที่ไม่มีประสิทธิภาพ
การที่แผนกหรือพนักงานต่างๆ สื่อสารกันอย่างไม่มีประสิทธิภาพอาจสร้างความเข้าใจผิดและนำมาซึ่งการเป็นศัตรูกันได้ ทั้งนี้ ความขัดแย้งส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นจากสิ่งที่ถูกเก็บไว้ข้างในมากกว่าสิ่งที่แสดงออกมา เช่น การที่ผู้จัดการมอบหมายงานให้คนอื่นโดยไม่แจ้งสาเหตุให้พนักงานคนที่เป็นเจ้าของงานได้รู้ เป็นต้น
การเลือกปฏิบัติ
ความเท่าเทียมทางรายได้เป็นประเด็นใหญ่ในที่ทำงานที่องค์กรจำนวนมากต่างประสบปัญหาในการรับมือ ซึ่งความล้มเหลวในเรื่องนี้อาจทำให้เกิดการแตกแยกกันได้ นอกจากความไม่เท่าเทียมทางเพศแล้ว การเลือกปฏิบัติในรูปแบบอื่น ๆ ทั้งอายุ ศาสนา และความทุพพลภาพ ยังสามารถก่อให้เกิดการแบ่งแยกและทำให้องค์กรเสี่ยงต่อการไม่ลงรอยกัน หรือแม้แต่เกิดปัญหาทางกฎหมายได้อีกด้วย
ลักษณะนิสัยที่ไม่ลงรอยกัน
ความหลากหลายเป็นปัจจัยส่งผลดีต่อธุรกิจ องค์กรที่ประกอบด้วยผู้คนจากภูมิหลัง คุณลักษณะ และประสบการณ์ที่หลากหลายมักทำผลงานได้ดีกว่าองค์กรในแวดวงเดียวกัน1 อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้ก็อาจก่อให้เกิดปัญหาในแง่ของรูปแบบการสื่อสารทางธุรกิจที่แตกต่างกัน รวมถึงขัดขวางการทำงานร่วมกันแบบเป็นขั้นเป็นตอนระหว่างตัวบุคคลกับทีมได้
การแข่งขัน
แม้ว่าการแข่งขันในเชิงบวกจะเป็นผลดีต่อการสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงาน แต่การแข่งขันที่มากเกินไปและความทะเยอทะยานจนไม่เห็นอกเห็นใจผู้อื่นก็อาจทำให้การทำงานเป็นทีมพังทลายลงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในองค์กรหรือแผนกที่มีเรื่องค่าจ้างและโบนัสที่อิงตามผลงานเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
มาตรการจัดการความขัดแย้งในที่ทำงานที่มีประสิทธิภาพ
ในการช่วยให้ทีมของคุณทำงานร่วมกันอย่างกลมเกลียว คุณสามารถทำตามขั้นตอนต่างๆ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาและจัดการกับความขัดแย้งอย่างมีประสิทธิภาพได้ โดยกลยุทธ์ 6 ข้อที่จะช่วยคุณเริ่มต้นมีดังต่อไปนี้
ตั้งความคาดหวังที่ชัดเจน
การสื่อสารภายในองค์กรที่ชัดเจนและไตร่ตรองมาอย่างดีสามารถหลีกเลี่ยงความขัดแย้งต่าง ๆ ได้ เมื่อผู้จัดการขอให้บุคลากรทำงานบางอย่างให้เสร็จสิ้น ผู้จัดการควรอธิบายสิ่งที่ตนต้องการด้วย ทั้งในส่วนของวันครบกำหนดส่ง โครงสร้าง และองค์ประกอบอื่น ๆ ที่สำคัญในงานชิ้นนั้น
ปรับโฉมที่ทำงานใหม่
สภาพแวดล้อมการทำงานที่มีแสงไฟสลัว ๆ กล่องอีเมลที่ล้นทะลัก และเสียงโทรศัพท์ที่ดังขึ้นเป็นประจำอาจทำให้เกิดความตึงเครียดได้ คุณจึงควรเปลี่ยนสภาพแวดล้อมให้ดียิ่งขึ้น เพราะยิ่งผู้คนรู้สึกสงบท่ามกลางสภาพแวดล้อมการทำงาน ความขัดแย้งต่าง ๆ ก็จะยิ่งมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยลงไปด้วย
การทำความเข้าใจสภาพแวดล้อมและเครื่องมือที่ทีมที่ทำงานแบบไฮบริดต้องการเพื่อเชื่อมต่อและทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพคือส่วนสำคัญของการจัดการผลิตภาพ เมื่อใดที่คุณดำเนินการอย่างเหมาะสม คุณก็จะได้รับประโยชน์จากสิ่งนี้
ใช้นโยบายที่เปิดกว้าง
การรับมือกับปัญหาต่างๆ ล่วงหน้ามีความสำคัญ เพราะหากพนักงานรู้สึกว่าผู้จัดการเป็นคนที่เข้าหาได้ยาก หรือรู้สึกว่าตนไม่ได้รับความสำคัญ คนเหล่านี้ก็อาจไม่รายงานปัญหาใดๆ ในที่ทำงานได้ ลองสนับสนุนให้พนักงานได้ระบายเรื่องที่ตนหนักใจ ข้อมูลระบุว่า ผู้คน 81% อยากทำงานกับนายจ้างที่ให้ความสำคัญกับการสื่อสารแบบเปิดกว้างมากกว่านายจ้างที่เสนอสวัสดิการอย่างอาหารฟรีและการเป็นสมาชิกโรงยิม
โฟกัสที่ปัญหา ไม่ใช่ตัวบุคคล
บางครั้งผู้จัดการก็อาจเพิกเฉยต่อข้อกังวลของพนักงาน โดยมองว่าพนักงานคนนั้นกำลังสร้างปัญหาหรือทำให้ปัญหาเป็นเรื่องใหญ่โตเกินจริง ทว่าความแตกต่างที่แท้จริงนั้นมักซ่อนตัวอยู่ใต้ความขัดแย้ง ซึ่งหากคุณแยกปัญหาออกจากตัวบุคคล คุณก็จะสามารถหารือเกี่ยวกับปัญหาในที่ทำงานได้โดยไม่ทำลายความสัมพันธ์
หาข้อไกล่เกลี่ยระหว่างพนักงานด้วยกัน
ความขัดแย้งบางอย่างก็ฝังรากลึกจนคุณอาจต้องการความช่วยเหลือจากบุคคลภายนอกเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทั้งนี้ การไกล่เกลี่ยจำเป็นต้องมีการสรรหาบุคคลที่สามที่เป็นกลางและได้รับความไว้วางใจจากทุกฝ่าย เช่น ผู้จัดการจากแผนกอื่น ตัวแทนฝ่ายบุคคล หรือเพื่อนร่วมงาน ซึ่งผู้ไกล่เกลี่ยจะทำหน้าที่ดูแลการพูดคุยหารือกัน โดยมีเป้าหมายในการเจรจาหาทางออกที่ทุกฝ่ายพึงพอใจ
ใช้เทคโนโลยีช่วยแก้ไขปัญหา
บางครั้งธรรมชาติของงานก็ทำให้บรรยากาศการทำงานเต็มไปด้วยความตึงเครียดและความขัดแย้ง อย่างไรก็ตาม การใช้แนวทางที่มีประสิทธิภาพเหล่านี้เพื่อจัดการสถานการณ์ต่าง ๆ สามารถช่วยได้
เทคโนโลยีก็สามารถช่วยได้ด้วยเช่นกัน คุณควรมองหาแพลตฟอร์มที่ช่วยให้ผู้คนในองค์กรได้ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น รวมถึงมอบวิธีที่มีประโยชน์ในการพูดคุยและรับมือกับปัญหาอย่างเปิดเผยในรูปแบบฟอรั่มสาธารณะ
ท้ายที่สุดแล้ว โซลูชั่นที่ส่งเสริมให้ผู้คนได้พูดคุยกันอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นและมอบทักษะการทำงานเป็นทีมที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น อาจมีความสามารถกระทั่งช่วยป้องกันความขัดแย้งรุนแรงที่จะเกิดขึ้นได้ตั้งแต่แรกเลยเสียด้วยซ้ำ
ขอขอบคุณข้อมูลดี ๆ จาก: workplace.com
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ.2565 สำนักพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการสหกรณ์
Copyright All Reseve 2022 Cooperative Technology Transfer and Development Office
Picture Icons & Symbols จากเว็บไซต์ Pixabay.com, Freepik.com, Flation.com, Canva.com