เชื่อว่ามนุษย์เงินเดือนทุกคนย่อมเคยผ่านอาการนี้มาแล้วทั้งสิ้น กับอาการที่เรียกว่า “เบื่องาน” พอใกล้ถึงวันจันทร์ทีไรกลับรู้สึกหดหู่และเบื่อหน่าย แต่พอถึงวันศุกร์หรือช่วงใกล้วันหยุดนักขัตฤกษ์กลับมีความกระดี๊กระด๊าขึ้นมาอย่างทันตาเห็น จริง ๆ แล้วเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนและไม่ใช่สิ่งผิดปกติแต่อย่างใด
แต่จะดีกว่าไหมถ้าเราสามารถหาวิธีปรับตัวหรือแก้ไข เพื่อให้เราใช้ชีวิตกับงานที่เรารักได้อย่างมีความสุขตลอด 5 วัน/สัปดาห์ ก่อนที่อาการเบื่องานที่ว่านี้จะลุกลามกลายเป็นคำว่า Burn Out ไปในที่สุด เพราะฉะนั้นว่าดูกันดีกว่า ว่าวิธีแก้อาการเบื่องานที่สามารถทำตามได้ง่าย ๆ จะมีอะไรบ้าง รีบไปอ่านกันโดยพลัน ก่อนจะสายเกินแก้ไข
ทุกครั้งที่เราพบเจอกับปัญหาอะไรก็ตาม สิ่งแรกที่ควรทำคือ หาสาเหตุของปัญหานั้นให้เจอก่อนว่า มันคืออะไรกันแน่ เฉกเช่นเดียวกันกับอาการเบื่องาน เมื่อเรารู้สึกเซ็งกับงานทุกวันนี้เต็มแก่ อยากลาออกให้รู้แล้วรู้รอด ก็ต้องสาเหตุของมันเช่นเดียวกัน ว่าเป็นเพราะอะไรกันนะ
สิ่งสำคัญในการหาสาเหตุก็คือ ควรมองให้รอบด้าน ทั้งในแง่บวกและแง่ลบ อย่าใช้ตัวเองเป็นศูนย์กลาง และคิดว่าสิ่งอื่น ๆ แย่เสมอไป จนลืมมองกลับมาที่ตัวเอง เพราะบางครั้งสาเหตุในการเบื่องานที่แท้จริงแล้ว อาจมาจากตัวเราเองก็เป็นได้ เมื่อพบเจอต้นตอของปัญหาเป็นที่เรียบร้อย ค่อยดำเนินการหาวิธีแก้ไขเป็นลำดับต่อไป
สืบเนื่องจากข้อแรกหากเช็คให้ชัวร์แล้วว่าสาเหตุหลักไม่ได้มาจากตัวเราเองแน่ๆ ก็ต้อง Double Check ซ้ำสองว่า สาเหตุที่เราเบื่องานนั้น แท้จริงแล้วคืออะไร ส่วนที่ใหญ่ที่หลายคนประสบพบเจอ ก็มีแค่อยู่แค่ประเด็นก็คือ ไม่ “เบื่องาน” ก็ “เบื่อคน”
เคยมีผลวิจัยจากหลายๆ ที่เคยกล่าวไว้ว่า มีคนจำนวนไม่น้อยที่ตัดสินใจเลือกออกจากงาน แท้ที่จริงมีสาเหตุมาจากคนที่ในทำงาน บางคนถึงขั้นจำยอมทิ้งงานที่รัก สวัสดิการที่ดีจากบริษัท เพียงเพราะทนพฤติกรรมและนิสัยแย่ ๆ ของคนในที่ทำงานไม่ไหว ไม่ว่าจะเป็นทั้งจากหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมทีม ซึ่งปัญหาหลักๆ มักจากเกิดเรื่องราวความไม่เท่าเทียมกัน ความไม่ยุติธรรม ปัญหาการสื่อสาร สไตล์การทำงานที่ไม่เข้ากัน ไปจนถึงโชคร้ายเจอเพื่อนร่วมงาน Toxic
เพราะฉะนั้นแล้วให้ลองชั่งใจดูว่า ถ้าเราตัดคนออกไปจากออฟฟิศเรา แล้วเราจะมีความสุขขึ้นหรือไม่ ถ้าสุดท้ายแล้วผลออกมาว่าใช่ ให้ฟันธงไปเลยว่าคุณกำลังเบื่อ “คน” แต่ไม่ได้เบื่อ “งาน” แน่นอน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการทำงานทุกที่ย่อมต้องมีเรื่องคนเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะเราไม่สามารถทำงานคนเดียวได้ หากเรารู้แล้วว่า เรามีปัญหากับใคร จึงควรเลือกที่จะปรับความเข้าใจ หรือเคลียร์กันใหม่ให้มาเจอกันตรงกลาง แทนที่เราจะตัดสินใจลาออกจากงานที่สนุกกับมัน เพราะเพียงแค่คน ๆ เดียว (หรือคนบางกลุ่ม)
บางครั้งการวิ่งอยู่ในทุ่งลาเวนเดอร์ก็ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันเสมอไป แต่เราควรนำประเด็นนี้มาใช้แก้ปัญหาในบางเรื่องเช่นเดียวกัน เพราะการสร้างทัศนคติในเชิงบวกหรือการมองโลกในแง่ดี ก็สามารถช่วยได้ เพราะจริงๆ แล้ว การที่คนเราต้องทำอะไรซ้ำ ๆ เดิม ๆ ทุกวันเป็นนาน ย่อมก่อให้เกิดอาการเบื่อแน่นอน แล้วยิ่งถ้าเราไปหมกมุ่นอยู่กับความคิดที่ว่าทำไป ก็จะมีแต่เบื่อขึ้นเรื่อย ๆ ความคิดนั้นก็จะบั่นทอนให้เรามีความสุขในการทำงานที่ลดลงไปอีก
เพราะฉะนั้นเราควรมองมุมกลับ ปรับมุมมอง ให้ลองหาข้อดีอื่นๆ ในงานที่ทำอยู่ หรือลองหาสิ่งดีๆ ที่มีอยู่ในออฟฟิศของเรา เช่น การมีเพื่อนร่วมงานที่ดี, การมีหัวหน้าที่เข้าใจและซัพพอร์ตเรา, สวัสดิการออฟฟิศสุดปัง, การเดินทางมาทำงานแสนสบาย ฯลฯ เพียงแค่เราหาจุดบวก ก็สามารถเกิดแรงจูงใจใหม่ ๆ ให้เราอยากตื่นขึ้นมาทำงานได้มากขึ้นแล้ว
หากคุณรู้สึกว่างานที่อยู่ตลอดเป็นอะไรที่ซ้ำ ๆ เดิม ๆ ทำเหมือนเดิมแทบทุกวัน หรือรู้สึกว่างานที่ทำมันดูจะง่ายเกินไป ทั้งที่จริง ๆ คุณก็สามารถทำงานนั้นได้อย่างดีเยี่ยม แต่บางครั้งก็รู้สึกว่านี่คือ Comfort Zone ของตัวเองในการทำงาน เพราะเคยชินกับสิ่งนั้น ผสานกับกลัวการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น นั่นก็อาจเป็นสัญญาณของการเบื่องานได้เช่นเดียวกัน
วิธีแก้คือลองหาโอกาสคุยกับหัวหน้างานเกี่ยวกับการรับงานใหม่ๆ หรือโปรเจคต์พิเศษที่จะช่วยพัฒนาทักษะและท้าทายความสามารถของคุณให้มากขึ้น นอกจากนี้ก็ควรลองที่จะหาข้อมูลถึงตำแหน่งงานสายอื่นๆ ในบริษัทดูด้วย ลองไปพูดคุยกับทีมอื่น ว่าเขาทำงานกันอย่างไร เหนือบ่ากว่าแรงของเราไหม และคุณสมบัติที่เรามี สามารถนำมาปรับมาใช้มากน้อยเพียงใด แล้วค่อยหาทางขยับขยายเพื่อเป็นตำแหน่ง แต่ข้อสำคัญเลยก็คือคุณต้องแน่ใจตัวเองจริงๆ ก่อนนะ ว่าคุณกล้าที่จะก้าวออกจาก Comfort Zone ของงานเดิมจริงๆ มิฉะนั้นอาจกลายเป็นการหนีเสือปะจระเข้ ย้ายไปแล้ว รู้สึกแย่กว่าเก่า ก็อาจจะกลายเป็นผลเสียกว่าเดิมก็ได้
วิธีต่อมาคือลองปรับเปลี่ยนสไตล์การทำงานของตัวเองดูบ้าง เช่น ถ้าปกติคุณเป็นคนที่ทำงานแบบมีระเบียบแบบแผน ทุกอย่างต้องเป๊ะตามตาราง ลองปรับด้วยการเพิ่มความยืดหยุ่นลงไปบ้าง เพื่อจะได้ไม่กดดันตัวเองจนเกินไป หรือหากมองกลับกัน หากคุณเป็นคนที่ทำงานแบบชิลจนเกินไป จนขาดการวางแผนที่ดี ก็ลองหันมาจริงจังด้วยการจัดตารางงานใหม่ วางแผนลำดับความสำคัญแบบเป็นขั้นเป็นตอน ก็อาจช่วยให้งานของคุณราบรื่นไปได้เช่นกัน
นอกจากนี้คุณยังควรลองเปลี่ยนกิจวัตรประจำวันของตัวเองดูด้วย เช่น การแบ่งเวลาการทำงานกับชีวิตส่วนตัวให้เหมาะสม แยกเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัวออกจากกันให้ชัดเจน ใช้ชีวิตมนุษย์เงินเดือนแบบ Work Life Balance และไม่ควรนำเรื่องงานกลับมาเครียดต่อที่บ้านเป็นอันขาด
การเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด แม้เราจะก้าวเข้าสู่การเป็นมนุษย์เงินเดือนเต็มตัวแล้วก็ตาม แต่เราก็ควรหาความรู้เพิ่มเติม เพื่อพัฒนาทักษะที่ดีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้นไปอีก เพราะบางครั้งคุณอาจไม่รู้ตัวว่าจริง ๆ แล้วสาเหตุที่เบื่องาน อาจเกิดมาจากการติดขัดเรื่องทักษะบางอย่าง จึงอาจทำให้งานที่ทำอยู่ สะดุดไปบ้างในบางครั้ง
หากมีโอกาสจึงควรหาเวลาเทคคอร์สเพิ่มเติมที่เกี่ยวกับงานของตัวเอง หรือหากอยากก้าวไปอีกขั้น ก็ลองเทคคอร์สที่ไม่เกี่ยวข้องกับสายงานตัวเองก็ได้ เพราะเผื่อได้จับผลัดจับผลูได้ย้ายสายงาน จะได้นำทักษะใหม่ๆ ไปปรับเข้ากับงานได้อย่างดีเยี่ยม โดยสมัยนี้มีคอร์สออนไลน์ให้เลือกเรียนมากมาย แถมบางที่ยังฟรีและมีใบประกาศฯ ให้อีกด้วยนะ
เมื่อคุณกล้าออกจาก Comfort Zone หรือได้ลองเทคคอร์สเพิ่มเติมแล้ว ก็ถึงเวลาเริ่มต้นในการมองหาความท้าทายใหม่ ๆ สักที หากยังไม่กล้าพอที่จะย้ายสายงาน ก็ลองปรึกษาหัวหน้าเพื่อขอรับผิดชอบในโปรเจคต์พิเศษหรือชิ้นงานที่ยากขึ้นดูก่อน ไม่อย่างนั้นก็ถามลองเพื่อนร่วมทีมว่าต้องการความช่วยเหลือบ้างไหม เพราะสิ่งเหล่านี้จะช่วยพัฒนาทักษะของคุณได้เป็นอย่างดี
โดยการลองทำงานใหม่ ๆ ที่ยากขึ้นนั้น จะเป็นส่วนช่วยในการกระตุ้นสมองและอารมณ์ของคุณให้รู้สึกตื่นตัวมากขึ้น แถมยังมีส่วนช่วยให้คุณได้รับประสบการณ์ใหม่ ๆ เพิ่มเติม ได้เติบโตในสายอาชีพ ถือเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต เมื่อโอกาสในเลื่อนตำแหน่งมาถึง
บางครั้งการที่เราเป็นมนุษย์เงินเดือนแบบ Full Time ทำให้เราลืมที่จะมองหาความสุขรอบตัวไปบ้าง เพราะเรามัวแต่โฟกัสอยู่กับงานมากเกินไป จนก่อให้เกิดความเครียด ดังนั้นจึงควรลองที่หางานอดิเรกทำ อาจจะเริ่มต้นจากงานอดิเรกที่คุณเคยทำอยู่แล้ว แต่ไม่ค่อยได้ทำ หรือจะลองค้นหาอะไรใหม่ๆ ทำในเวลาว่างก็ได้เหมือนกัน
โดยกิจกรรมที่น่าสนใจ ก็อย่างเช่น การลองเทคคอร์สพิเศษ, การเข้าฟิตเนสหรือคลาสออกกำลังกาย, การเล่นหุ้น, การเยี่ยมนิทรรศการ, การออกไปเดินทางท่องเที่ยว และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งกิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนเป็นตัวช่วยในการบรรเทาความเครียดได้เป็นอย่างดี
สำหรับงานอดิเรก อาจจะต้องหาวันหยุดหรือวันว่าง ๆ ในการไปทำกิจกรรม แต่ถ้าเป็นระหว่างวันเวลาทำงาน เราก็สามารถหากิจกรรมสั้น ๆ เพื่อ Take a break จากงานเครียด ๆ ได้เหมือนกัน เช่น
- บันทึกเรื่องราวดี ๆ ที่เคยทำ ลงในสมุดสักเล่ม
- หาร้านอาหารอร่อย ๆ ทานช่วงมื้อกลางวัน
- ออกไปเดินเล่นรับลม หรือหาซื้อของว่างยามบ่าย
- พยายามหาเวลาลุกจากโต๊ะไปที่อื่น สักประมาณ 5-10 นาที
- เปิดเพลงฟัง เพื่อสร้างบรรยากาศผ่อนคลาย
- คุยเล่นเรื่องอื่นที่ไม่ใช่เรื่องงานกับเพื่อนร่วมทีมบ้าง
- จัดโต๊ะทำงานให้ดูเก๋ไก๋สวยงาม เพื่อสร้างมู้ดในการทำงาน
พยายามตั้งเป้าหมายให้กับตัวเองว่าการที่เราทำงานที่บริษัทนี้ เรามีจุดมุ่งหมายอย่างไร ต้องการให้เส้นทางอาชีพของเราประสบความสำเร็จมากแค่ไหน เพราะทุกๆ เป้าหมายที่เราตั้งไว้ ล้านแล้วแต่เป็นแรงผลักดันให้เราสามารถมีแรงฮึดต่อสู้กับทุกสิ่งอย่างได้เสมอ ซึ่งทุก ๆ การตั้งเป้าหมาย อย่าไปคำนึงถึงอุปสรรคที่จะเข้ามา หรือคิดว่าเราไม่สามารถต่อสู้กับปัญหาได้ ขอแค่คุณมีกำลังใจที่ดี และเชื่อว่าความสามารถของคุณไปถึง แค่นี้ก็จะอาจช่วยให้บรรเทาอาการเบื่องานลงได้
แต่สุดท้ายถ้าลองพยายามทุกสิ่งแล้ว ก็ยังเบื่อกับงานปัจจุบันที่ทำอยู่จริง ๆ ก็อาจจะต้องถึงเวลามองหางานใหม่ เพราะไม่แน่ใจถ้าได้คุณได้เปลี่ยนสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ เพื่อนร่วมงานใหม่ ๆ อาการเบื่องานอาจจะหายไปก็ได้
อาการเบื่องานนั้นสามารถเกิดขึ้นได้กับมนุษย์เงินเดือนทุกคน อยู่ที่แต่ละคนจะมีความสามารถในการปรับตัวหรือต่อสู้กับอาการนี้ได้มากแค่ไหน แต่สิ่งสำคัญก็คือ ใครที่ประสบปัญหานี้ ขอให้วิเคราะห์ปัญหานี้ให้ถี่ถ้วน และหาทางออกให้มันอย่างเต็มความสามารถ เพราะอย่างไรเสียถ้าขึ้นว่าเป็นมนุษย์เงินเดือน ยังไงเราก็ไม่มีทางหนีปัญหานี้พ้น แต่เราต้องเรียนรู้ที่อยู่กับมันให้ได้ต่างหากล่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลดี ๆ จาก: jobsdb.com
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ.2565 สำนักพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการสหกรณ์
Copyright All Reseve 2022 Cooperative Technology Transfer and Development Office
Picture Icons & Symbols จากเว็บไซต์ Pixabay.com, Freepik.com, Flation.com, Canva.com