21 กรกฎาคม 2566 นายมงคล วุฒินิมิต ผู้อำนวยการสำนักบริหารทรัพย์สิน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้เกียรติเป็นวิทยากรบรรยายหัวข้อ “กาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของการใช้อำนาจรองนายทะเบียนสหกรณ์” ในโครงการฝึกอบรม หลักสูตร “ผู้ปฏิบัติหน้าที่รองนายทะเบียนสหกรณ์” วันที่ 3 ณ โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร เน้นประเด็นเกี่ยวกับแนวทางในการตรวจสอบ และการป้องกันการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เพราะในการปฏิบัติหน้าที่ของรองนายทะเบียนสหกรณ์นั้นเกี่ยวพันกับการใช้อำนาจออกคำสั่งในเรื่องต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อบุคคล รวมถึงเกี่ยวพันกับผลประโยชน์และทรัพย์สินของทางราชการ จึงจำเป็นต้องมีพื้นฐานในการแยกแยะว่า เรื่องใดอยู่ในอำนาจหน้าที่หรืออยู่ในภารกิจของราชการ เรื่องใดที่ไม่ใช่ภารกิจของราชการและเป็นเรื่องผลประโยชน์ส่วนตน เพื่อไม่ให้เกิดการทับซ้อนกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์ของทางราชการ วิทยากรได้ยกตัวอย่างกรณีศึกษาขึ้นมาให้ผู้อบรมได้ร่วมกันคิด วิเคราะห์ และแสดงความเห็น เช่น กรณีการใช้รถหลวงออกไปราชการ เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจของทางราชการแล้วมีการออกคำสั่งให้พนักงานขับรถขับออกนอกเส้นทางเพื่อไปทำภารกิจส่วนตน ในส่วนนี้ผู้เข้าอบรมจึงต้องมาวิเคราะห์ดูว่าการกระทำดังกล่าวนั้นถูกต้องหรือไม่ ทั้งนี้ ในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐมีหน้าที่ที่จะต้องรักษาผลประโยชน์ของทางราชการ และไม่นำทรัพย์สินของทางราชการไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตน ยิ่งหากมีอำนาจในการออกคำสั่งด้วยแล้ว ยิ่งต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง รอบคอบ ไม่ก่อให้เกิดผลเสียหายไม่ว่าทางใดทางหนึ่งหรือต่อบุคคลใด
ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ระบุสาระสำคัญไว้ว่า “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ” ซึ่งการกระทำผิดที่จะเข้าข่ายมาตรานี้นั้นแยกออกเป็น 2 การกระทำด้วยกัน คือ 1.ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และ 2.ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต จากกรณีศึกษาที่ได้กล่าวไปข้างต้น ผู้อบรมต้องมาวิเคราะห์ดูว่าเข้าข่ายความผิดตามมาตรานี้หรือไม่ การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบที่จะเป็นความผิดได้นั้น จะต้องเป็นการกระทำเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หากการกระทำนั้นไม่เกิดความเสียหายแล้วย่อมจะไม่เป็นความผิดตามมาตรา 157 ในขณะที่การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตไม่ต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริงว่าการกระทำนั้นมีจุดมุ่งหมายที่จะให้ผู้อื่นเสียหายหรือไม่ แม้ไม่เกิดความเสียหายก็ยังคงถือว่าเป็นการกระทำความผิดได้ กฎหมายมาตรานี้มีความสำคัญและเป็นสิ่งควบคุมการใช้อำนาจและการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ดังนั้น เพื่อป้องกันความเสียหายและผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้นโดยความไม่ตั้งใจ ผู้อบรมจำจะต้องมีความเข้าใจในสาระสำคัญของเรื่องที่อบรมในวันนี้อย่างดียิ่ง
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ.2565 สำนักพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการสหกรณ์
Copyright All Reseve 2022 Cooperative Technology Transfer and Development Office
Picture Icons & Symbols จากเว็บไซต์ Pixabay.com, Freepik.com, Flation.com, Canva.com